กรมขนส่งฯ พร้อมออกใบขับขี่สากลแบบใหม่ใช้ครอบคลุม 84 ประเทศ เริ่ม 1 พ.ค. 64 นี้

492 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรมขนส่งฯ พร้อมออกใบขับขี่สากลแบบใหม่ใช้ครอบคลุม 84 ประเทศ เริ่ม 1 พ.ค. 64 นี้

กรมขนส่งฯ พร้อมออกใบขับขี่สากลแบบใหม่ใช้ครอบคลุม 84 ประเทศ เริ่ม 1 พ.ค. 64 นี้

  

กรมการขนส่งทางบกประกาศเตรียมออกใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ (ใบขับขี่สากล) ภายใต้อนุสัญญาเวียนนา 1968 ครอบคลุมการใช้งานใน 84 ประเทศทั่วโลก มีอายุ 3 ปี เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 เป็นต้นไป นั้น ขบ. เตรียมพร้อมรองรับให้ดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968 หรือ อนุสัญญาเวียนนา 1968 ได้ปรับรายละเอียดของอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ นครเจนีวา ค.ศ. 1949 หรือ อนุสัญญาเจนีวา 1949 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ก่อนแล้วให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยในการใช้ถนน รวมทั้งยอมรับใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) ที่มีลักษณะเป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาเวียนนา 1968 ให้เข้ามาใช้ในประเทศภาคีได้
ดังนั้น การที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 จึงมีส่วนสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยทางถนนและมาตรฐานใบอนุญาตขับรถของประเทศไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ทั้งยังเพิ่มโอกาสที่ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศของไทยจะได้รับการยอมรับให้สามารถนำไปใช้ในต่างประเทศที่เป็นภาคีตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 ได้ และประเทศไทยก็สามารถยอมรับใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศที่ออกโดยประเทศที่เป็นภาคีตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องใช้ควบคู่กับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) คลี่คลาย
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า การที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาเวียนนา 1968 ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป กรมการขนส่งทางบกสามารถดำเนินการออกใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาเวียนนา 1968 เพิ่มเติมจากใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาเจนีวา 1949 เดิมที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้ ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาเจนีวา 1949 มีอายุ 1 ปี นำไปใช้ได้ใน 101 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้  เป็นต้น และใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 มีอายุ 3 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต หรือไม่เกินกว่าอายุของใบอนุญาตขับรถภายในประเทศที่ผู้ถือมีอยู่ นำไปใช้ได้ใน 84 ประเทศทั่วโลก เช่น บาห์เรน บราซิล เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น และสำหรับประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวีเดน รวมถึงประเทศไทย สามารถใช้ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศที่ออกตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 เพียงฉบับเดียวได้   สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ สามารถแจ้งรายชื่อประเทศที่ต้องการนำใบอนุญาตขับรถไปใช้ต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบความเกี่ยวข้องในการร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญา และออกใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศให้ได้อย่างถูกต้องตามแบบที่กำหนด
เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้

สำเนาหนังสือเดินทาง (พร้อมฉบับจริง)
บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง)
ใบอนุญาตขับรถ แล้วแต่กรณี (ต้องไม่ใช่ชนิดชั่วคราว)
รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว 2 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
ขั้นตอนการดำเนินการ

ยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน
ชำระค่าธรรมเนียม 505 บาท และรับใบอนุญาต
กรณีเป็นชาวต่างชาติ

ใบอนุญาตขับรถ (ต้องไม่ใช่ชนิดชั่วคราว)
หนังสือเดินทาง (พร้อมฉบับจริง ต้องไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว, เล่นกีฬา หรือเดินทางผ่านเมือง)
ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบอนุญาตทำงาน  (Work Permit) หรือใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์   (Digital Work Permit)   ที่ยังไม่สิ้นอายุ หรือหลักฐานที่แสดงว่าเป็นผู้ได้รับการตรวจลงตราพิเศษ (Smart Visa) ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ
รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
กรณีมอบอำนาจ เตรียมหลักฐานเพิ่มดังนี้

หนังมือสองอำนาจ ติดอากรแสตมป์ 10 บาท
สำเนาหลักฐานผู้มอบอำนาจพร้อมเซ็นชื่อรับรองสำเนา
บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ (กรณีต่างชาติต้องแนบตัวจริงพร้อมสำเนา)

ที่มา : www.dlt.go.th

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้